กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยผลสรุปเสวนาการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อจาก 5 ภูมิภาค ของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ พบปัญหาเกี่ยวกับภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาค บ่อนทำลายเศรษฐกิจไทย อาทิ การหลอกลวงให้ซื้อของออนไลน์ การหลอกให้กู้สินเชื่อออนไลน์ การแฮกข้อมูลจากมือถือ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ การหลอกให้รัก ข้อมูลบิดเบือน ข่าวปลอม การพนันออนไลน์ ในกลุ่มเยาวชน รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเผชิญหน้ากับภัยออนไลน์จากผู้แทนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากข้อมูลบิดเบือน ภายใต้หัวข้อ “เสริมพลัง ร่วมป้องกัน ปัญหาภัยออนไลน์” มุ่งยกระดับการเฝ้าระวังและป้องกันประชาชนจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพด้านดิจิทัล
ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและ ไม่สร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยต้องเผชิญกับภัยจากสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นหลากหลายรูปแบบ พบปัญหาเกี่ยวกับภัยออนไลน์จำนวนมาก อาทิ การหลอกลวงให้ซื้อของออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพ การหลอกให้กู้สินเชื่อออนไลน์ดอกเบี้ยสูง การแฮกข้อมูลจากมือถือ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ การหลอกให้รักจนนำไปสู่ล่วงการละเมิดทางเพศ ข้อมูลบิดเบือน ข่าวลวง การพนันออนไลน์ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยีและข่าวสารโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ทางคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้คนไทยมีทักษะในการวิเคราะห์ แยกแยะ และใช้สื่อในชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่ให้ตกเป็นเยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ จึงได้จัดเวทีเสวนาการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค ได้แก่ สงขลา, น่าน, กาญจนบุรี, จันทบุรี และอุบลราชธานี ในปี 2566 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังภัยสื่อออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ" เพื่อการขับเคลื่อนสังคม ให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการวิเคราะห์และ ใช้สื่ออย่างปลอดภัยในทุกกลุ่มอายุทั่วประเทศไทย สามารถสรุปผลการดําเนินงานเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ดังนี้
ภาคใต้ ประชาชนนิยมรับฟังสื่อวิทยุควบคู่กับการดําเนินชีวิตประจําวัน และเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริบทของการสื่อสารเปลี่ยนไปสู่การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่เข้ามาเติมเต็มการสื่อสารของคนทุกกลุ่มวัย ตรงกับบริบทของกลุ่มมิจฉาชีพที่เน้นการสื่อสารข่าวเท็จหรือหลอกลวงในกลุ่มแคบผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียด้วย พบปัญหาการถูกแฮกข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือ การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ การถูกหลอกลวงออนไลน์ผ่านกลุ่มไลน์ โดยรูปแบบการจัดทําเป็นข้อความในกรุ๊ปไลน์ ซึ่งเอื้อต่อการรับสารและส่งสารกระจายไปกลุ่มต่าง ๆ และหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊ก
ภาคเหนือ มุ่งประเด็นไปที่ใช้สื่อของเด็กและเยาวชนทั้งในมิติการรู้เท่าทันสื่อและการใช้เครื่องมือสื่อในการเรียรู้และพัฒนาตนเอง ต้องมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อที่จะได้ดูแลคนใกล้ชิด คนในชุมชน และคนต่างวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ โดยพบปัญหาต่าง ๆ อาทิ การหลอกซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย การกดลิงก์จาก SMS การถูกหลอกให้รัก (Romance Scams) การพนันออนไลน์ที่พบมากในสถานศึกษา การหลอกลวงผ่านโซเชียลมีเดียจนนําไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศทั้งในกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุการแฮกเพจเฟซบุ๊กของหน่วยงาน การเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงจากสื่อ เช่น เกม เป็นต้น
ภาคตะวันตก มีทุนเดิมด้านการใช้เครือข่ายของวิทยุชุมชนในการแจ้งเตือนข่าวสารและสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นต่าง ๆ มีกลุ่มที่ต้องให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มชาติพันธุ์ พบการถูกหลอกและถูกดูดเงินผ่านโทรศัพท์มือถือที่ใช้โซเชียลมีเดีย คอลเซ็นเตอร์ และ ลิงก์ การถูกหลอกโดยกลยุทธ์ทางการตลาดการโฆษณาทั้งในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ หรือสื่อโฆษณาที่ส่งผ่านมาในโทรศัพท์มือถือและกระจายข่าวที่เป็น Fake News
ภาคตะวันออก มีกลไกในการขับเคลื่อนเรื่องการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาความปลอดภัยและสร้างสรรค์สู่การขยายผลการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ในภาคตะวันออก เป็นแกนกลางในการทำงานร่วมกับภาคีความร่วมมือในทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวในภูมิภาค โดยปัญหาที่พบในภาคตะวันออกคือ โฆษณาชวนเชื่อ เช่น สมุนไพรรักษาโควิด-19 รักษามะเร็ง การชวนให้เช่าพระปลอม หลอกให้รับพัสดุและเก็บเงินปลายทาง หลอกให้ลงทุนผ่านแชร์ลูกโซ่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีทุนเดิมการทำงานของเครือข่ายความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ภาคประชาสังคมมีบทบาทการทำงานด้านสื่อที่เข้มแข็งเน้นเรื่องการเฝ้าระวังสื่อ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะช่วยให้คนไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมทุกรูปแบบ กรณีตัวอย่างของปัญหาที่พบ ได้แก่ การหลอกลวงที่มีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เกิดเรื่องข่าวลวง(Fake News) รุนแรงในช่วงปี 2565 - 2566 ที่ผ่านมา เช่น ข่าวลือว่าโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีน้ำท่วม โดยมีภาพน้ำท่วมลานจอดรถของโรงแรมดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงทางโรงแรมได้สูบน้ำออกเรียบร้อยแล้วและไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมอีกแล้ว และปัญหาเด็กติดเกมออนไลน์ รวมทั้งการติดพนันออนไลน์
ในส่วนการนำเสนอ(ร่าง)มาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและสร้างทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อส่งเสริมการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ โดย ดร.ตรี บุญเจือ อนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ โดยได้ส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยออนไลน์ ตระหนักรู้ถึงสิทธิ์ และคุณค่าของตนเอง สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนที่ไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ ด้วยการใช้สื่อท้องถิ่น เช่น วิทยุกระจายเสียง ช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสาร รวมถึงเรื่องราวที่สอดแทรกสาระน่ารู้ ที่จะทำให้ทุกคนรู้จักการเฝ้าระวังภัยจากสื่อออนไลน์ ตลอดจนขับเคลื่อนให้ภาควิชาการได้สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการรู้ทันสื่อผ่านการวิจัย และถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างคนเท่าทันสื่อ และก่อให้เกิดนิเวศสื่อที่ดีในสังคม
อนึ่ง โครงการเสวนาการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค และงานสรุปผลการเสวนาครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ได้แก่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อฯ ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, คณะกรรมการอาหารและยา และผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้สนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายในการศึกษาวิจัย สร้างกลไก และจัดกิจกรรมในการส่งเสริมทักษะดังกล่าวผ่านการให้ทุนสนับสนุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) ลงพื้นที่ศึกษาวิธีการ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการทำงานกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ทั้งยังจัดการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อเพื่อติดตามสถานการณ์และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นให้แก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ จึงได้จัดโครงการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2566 และนำผลจากการเสวนาทั้ง 5 ภูมิภาค มานำเสนอต่อสาธารณะเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกและขับเคลื่อนสังคม ในชื่อของ “งานสรุปผลการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม”
อีกทั้งได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ เสริมพลัง ร่วมป้องกัน ปัญหาภัยออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาทางออนไลน์ โดย คุณภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวม ธนาคารแห่งประเทศไทย, คุณณัชภัทร ขาวแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์และติดตามสอดส่องการประกอบธุรกิจ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, พ.ต.ท. ดร.ปุริมพัฒน์ ธนาพันธ์สิริ รอง ผกก.4 บก.สอท.1 ผู้แทนหน่วยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, คุณประภารัตน์ ไชยยศ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA), คุณฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จำกัด (Whoscall), คุณจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fanpage : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ https://www.facebook.com/mmdt.deafthailand/
Commentaires